เอาคนอ่านไปด้วยนะนักเขียน
เขียนนิยายต้องมีบทสนาที่ลื่นไหล ขับเคลื่อนเหตุการณ์ไปข้างหน้า บทสนทนาที่ดี ไม่ใช่แค่ เขาพูด เธอพูด อะไรที่ไม่ควรใส่ในบทสนทนา ลองอ่านเทคนิคเล็ก ๆ สำหรับมือใหม่หัดเขียน ส่วนมือโปร มืออาชีพแล้ว ผ่านค่ะ
ผู้เข้าชมรวม
149
ผู้เข้าชมเดือนนี้
4
ผู้เข้าชมรวม
เอาคนอ่านไปด้วยนะนักเขียน
บทสนทนา
สำหรับนักเขียนมือใหม่ เรามาแชร์กันนะ ว่าเขียนบทสนทนาอย่างไรให้น่าอ่าน ไม่สะดุด เท่าที่เราเจอเอง คือเขียนเอง ตันเองและที่อ่านของนักเขียนท่านอื่น พอสรุปเป็นข้อ ๆได้ว่า
1.บางคนบ่นว่า เขียนประโยคโต้ตอบกันไปมา แล้วไม่อยากใส่คำว่า เขาพูด หล่อนพูด หรือ แม่พูด ลูกพูด ลงไปเรื่อย ๆ เบื่อทั้งคนเขียนและคนอ่านน่ะนะ ลองใช้วิธีเขียนบทสนาให้เห็นภาพตัวละคร ฉาก และเดินเรื่องต่อไป สลับบ้างดีไหม
เช่น “แม่รู้ว่าก้อยเสียใจ ที่ต้องออกจากบ้านนี้ไป แม่ก็รักบ้านนี้” ผู้เป็นแม่มองออกไปนอกหน้าต่าง พวงแสดกำลังออกดอกสะพรั่งอยู่ริมรั้ว มันเติบโตมาพร้อมกับบ้านหลังนี้
“ เราไม่มีทางอื่นแล้วหรือคะแม่” ก้อยพยายามกลั้นน้ำตาไม่ให้ไหลออกมา
แค่สองประโยค เราได้ภาพว่าสองแม่ลูกกำลังจะต้องออกจากบ้าน ด้วยความเศร้าใจเสียดายเห็นไหม ดีกว่ากันเยอะ
“เวลาคุณป่วยไข้ ฉันดูแลคุณจนหาย แต่เวลาฉันป่วย ฉันต้องจ้างเด็กขี่มอเตอร์ไซค์พาไปหาหมอ” มณฑาพูดเสียงสะอื้นด้วยความน้อยใจ “คิดดูเถอะ แล้วฉันจะฝากผีฝากไข้กับคุณได้ยังไง”
“อย่ามาลำเลิกกันนะ อยู่กันมาสิบเก้าปี ผมไม่เคยดีสักอย่างเลยใช่มั้ยในสายตาคุณน่ะ” สมชัยโต้อย่างเดือดดาล
ประโยคสนทนานี้บอกเล่าอารมณ์ ฉากและตัวละครเสร็จสรรพ
2. อย่าเอาภาษาเขียนใส่ปากตัวละคร
เช่น “หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็คาดว่า เราน่าจะมีรายได้ถัวเฉลี่ยต่อปี เกือบสองล้านนะคุณ”
ลองเปลี่ยนเป็น “ปีนี้ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เราน่าจะได้กำไรสักสองล้านนะคุณ”
หรือ “วันหยุดสุดสัปดาห์หยุดติดต่อกันสี่วันนี้เราจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไหนกันดีคะคุณพี่”
เป็น “ลองวีคเอนด์นี้ เราไปเที่ยวไหนกันดีคะคุณพี่”
ถ้าไม่แน่ใจ ลองอ่านออกเสียงดู ว่ามันลื่นไหล เป็นธรรมชาติหรือไม่ ถ้าไม่ก็แก้ไขใหม่
3.บทสนทนาต้องเหมาะกับตัวละคร อายุ ภูมิหลังตัวละคร เช่น ตำรวจจับผู้ร้ายที่เป็นโจรร้อยศพ
“นี่คุณ ผมต้องจับคุณนะ เพราะคุณฆ่าคนมาเยอะแล้ว ควรต้องไปรับกรรมนะครับ”
แก้ไขเป็น “ถึงเวลามึงต้องชดใช้กรรมแล้ว ฆ่าคนมาเยอะแล้ว” หรือหยาบเกิน ก็เปลี่ยนสรรพนามเป็น เอ็ง ก็พอไหว
ถ้าตัวละครเป็นเด็ก ภาษาที่ใช้ก็ต้องเหมาะกับวัย และภูมิหลังว่าเป็นเด็กบ้านนอกพูด หรือเด็กในเมือง ลูกคนรวยหรือคนจน ก็จะมีรายละเอียดต่างออกไปอีก
นักเขียนต้องฝึกเป็นคนช่างสังเกต ไม่ว่าอยู่กับเพื่อน พ่อแม่ หรือนั่งรถเมล์ หรือไปไหน ๆ ลองคิดเล่น ๆ ว่าถ้าคนที่เราพบเห็น ถ้าเขาคุยกัน บทสนทนาจะออกมาอย่างไร เช่น วินมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอย ร้านผัดไทยข้างบ้านคุยกับลูกค้า หรือคนที่มาเยี่ยมลูกที่ห้องขังบนโรงพัก ลองแต่งบทสนาในใจดู
4. อย่ายัดเยียดข้อมูลใส่ปากตัวละคร
4.1 บางทีเราต้องการบรรยายว่าบุคคลที่สามที่ตัวละครสนทนากัน คือใคร ห่วงคนอ่านจะไม่รู้ ก็เลยยัดเยียดไว้ในบทสนทนาซะเลยเช่น
“นี่แก อาจารย์วีระชัยที่สอนคณะวารสารศาสตร์น่ะนะ แกเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายว่ะ”
ถ้าคู่สนทนาเป็นเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน ก็ย่อมต้องรู้จักอาจารย์วีระชัยอยู่แล้ว ก็ควรพูดแค่ “นี่แก อาจารย์วีระชัยแกเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายว่ะ”
แต่ถ้ามีอาจารย์วีระชัยมีสองคน สอนต่างคณะกัน ก็อาจจะบอกได้ว่า “นี่แก อาจารย์วีระชัยวารสารฯแกเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายว่ะ”
หรือบทสนทนา ระหว่างผู้ปฏิบัติธรรมสองคนที่อยู่ในวัด ว่า “นี่คุณคืนนี้คุณจะเนสัชชิกไหม ที่ให้เดิน ยืน นั่งได้ แต่ห้ามนอนน่ะ”
คู่สนทนาต้องรู้อยู่แล้วว่าเนสัชชิกคือการปฏิบัติธรรมที่ถือเอาการปฏิบัติยืน เดิน นั่ง ตลอดคืนโดยไม่มีการนอน
ดังนั้นประโยคนี้ก็เขียนแค่ว่า “นี่คุณ คืนนี้คุณจะเนสัชชิกไหม”
แต่นักเขียนต้องการอธิบายให้คนอ่านรู้นี่ ว่าคืออะไร ก็แทรกด้วยบทบรรยายสั้น ๆไป ว่า เนสัชชิกหมายถึง...
4.2 นักเขียนอาจห่วงข้อมูลที่ต้องบอกคนอ่านด้วยจะทำอย่างไร ก็ใส่ปากตัวละครอีก เช่น
“อำเภอนี้อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณห้าสิบกิโลเมตร ประชาชนมีอาชีพทำไร่มันสำปะหลังเป็นส่วนใหญ่ เส้นทางค่อนข้างทุรกันดาร หน้าแล้งมีฝุ่นลูกรัง หน้าฝนทางเป็นโคลน”
เอาออกจากปากตัวละครเลย แล้วเขียนเป็นบทบรรยายแทน ง่าย ๆแต่ดูดี
หรือ “เราไปเที่ยวดานังมาแล้ว อยากชวนเธอไป ที่นั่นเป็นเมืองท่องเที่ยว มีทะเลสวยมาก หาดทรายสะอาดกว่าบ้านเราเยอะ มีหมู่บ้านแกะสลักหินอ่อน อาหารก็อร่อย มีก๋วยเตี๋ยวที่เป็นสูตรของเมืองกวางนามเลยนะแล้วมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเช่นฮอยอัน ที่เป็นมรดกโลกไงเธอ”
ไม่ไหวใช่ไหม ตัดมาใส่บทสนทนาสั้น ๆสำหรับตัวละครสองคนคุยกัน
“เราเคยไปดานังมาหนหนึ่งแล้ว อยากชวนเธอไปเที่ยวนะป้อม”
“มีอะไรน่าสนใจมั่งล่ะ”อีกฝ่ายถาม
“โอ๊ย เยอะแยะ มีทะเล หาดทรายสะอาดแต่คลื่นแรงเหมาะกับเล่นเซิร์ฟ มากกว่าว่ายน้ำ ฝรั่งชอบมานอนอาบแดดกันเยอะเลย”
“เหรอ แล้วฮอยอันอยู่ใกล้กันไหม”
“ไม่ไกลมาก แต่จำไม่ได้แล้วว่ากี่กิโล ลองเสิร์ชดูก็ได้”
ก็จะได้ภาพดานัง ที่อ่านแล้วไม่อึดอัดแล้วใช่ไหมล่ะ
4.3 บทสนทนาต้องทำให้นิยายเคลื่อนไหวไปข้างหน้า ไม่หยุดอยู่กับที่ ถ้าบทสนทนาทำให้เรื่องหยุดอยู่กับที่ อย่ามีบทสนทนาดีกว่า
บทสนทนาถ้ามีแค่ตัวละครคุยกัน ว่า
“สวัสดีจ้ะ เธอสบายดีไหม”
“ฉันสบายดีจ้ะ”
“วันนี้กินข้าวกับอะไร แล้วเธอล่ะ” ทำให้เปลืองหน้ากระดาษ
ลองอ่านบทสนทนานี้
กรรณิกาวิ่งกระหืดกระหอบขึ้นสถานีตำรวจ ตรงไปที่ร้อยเวรทันที
“ผู้กองคะ ฉันถูกแก๊งคอลเซนเตอร์ดูดเงินในบัญชีไปหมดแล้ว ทำยังไง ช่วยด้วยค่ะ”
“กดปิดมือถือก่อนคุณ หรือกดโหมดเครื่องบินเร็วเข้า” ร้อยเวรผุดลุกยืน
“กดไม่ได้ค่ะ” กรรณิกามือสั่น ใจสั่น
“ถอดซิมออกเลย เอามานี่ผมช่วย”
บทสนทนานี้สั้น ได้ใจความ ครบ
หรืออีกหนึ่งตัวอย่าง
“พรุ่งนี้แกพร้อมแน่หรือวรรณ” จุ๋มบีบมือเพื่อนเบา ๆอย่างจะปลอบโยน
“ชั้นไม่มีวันพร้อมหรอกจุ๋ม แต่ชีวิตมันต้องเดินไปข้างหน้า”
“เฮ้อ อยู่กันมาสิบกว่าปีเชียวนะ”
“ทำไงได้เล่า เขาไม่รักชั้นแล้ว จะให้ทนต่อไปก็ไม่ใช่ชั้นแล้ว”
“แล้วทางโน้นจะมาตามนัดแน่นะ”
“นัดแล้ว เก้าโมงที่สำนักงานเขต” วรรณเม้มปาก “ทุกอย่างจะได้เริ่มต้นใหม่ เราจะได้อิสรภาพคืนทั้งสองคน”
เพื่อนคุยกับเพื่อนที่กำลังจะไปเซ็นหย่า ที่สำนักงานเขต บทสนทนานี้ไม่ต้องมีคำว่าหย่า แม้แต่คำเดียวคนอ่านก็เข้าใจ
ลองดูนะคะ บทสนทนาสำคัญมากสำหรับนวนิยาย เรื่องสั้น ถ้าทำได้ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง.
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ผลงานอื่นๆ ของ ไผ่กิมซุง ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ ไผ่กิมซุง
ความคิดเห็น